ยินดีต้อนรับ นายวิชาญกรณ์ ประภาวิทย์ พลังงานจังหวัดระนอง

นำโดยนางสาวสารภี ชัญถาวรและเจ้าหน้าที่สำนักงานพลังงานจังหวัดระนองได้ทำการต้อนรับนายวิชาญกรณ์ ประภาวิทย์ พลังงานจังหวัดสตูลพร้อมคณะ อีกทั้งแสดงความยินดีสำหรับการเข้ารับตำแหน่งใหม่จากการดำรงตำแหน่งพลังงานจังหวัดสตูลมาเป็นพลังงานจังหวัดระนอง.
วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการผลิตไฟฟ้า เขื่อนลำตะคองชลภาวัฒนา ซึ่งเป็น โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยได้ลงนามในสมุดเยี่ยมชม พร้อมชมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่อยู่ใต้ดินทั้ง 4 เครื่อง ซึ่งปัจจุบันสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1,000 เมกะวัตต์ (MW) สามารถเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาอย่างต่อเนื่อง นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 2 กรกฎาคม ที่จังหวัดนครราชสีมา จึงถือโอกาสมาตรวจเยี่ยมโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับลำตะคองของกฟผ.และการผลิตไฟฟ้าท้ายเขื่อน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกฟผ. และกรมชลประทาน เพื่อติดตามการทำงาน รวมถึงรับทราบถึงศักยภาพการผลิตและปัญหาต่างๆ ของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ทั้งนี้ จากการได้เยี่ยมชมโรงไฟฟ้าแบบสูบกลับแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย พบว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้ สามารถเสริมศักยภาพการจ่ายไฟให้กับประชาชนในช่วงในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง(peak) ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีกำลังการผลิตถึง 1,000 MW “อย่างที่ทราบกันดีว่าเรากำลังผลักดันในเรื่องพลังงานสะอาด ด้วยการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากน้ำ เป็นพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดไม่ก่อให้เกิดมลภาวะมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า น้ำที่ปล่อยจากเขื่อนก็ไม่สูญเปล่า สอดคล้องกับพัฒนาและนำศักยภาพจาก ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง และยังสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอีกด้วย” ทั้งนี้ ในระหว่างที่นายพีระพันธุ์ กำลังกราบสักการะพระพุทธสิริสัตตราชหรือหลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่เหนืออ่างพักน้ำเขายายเที่ยง ได้เกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกรด 2 ชั้น ขึ้นเหนืออ่างพักน้ำอย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ยากจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ในระหว่างเดินทางกลับลงมาจากอ่างพักน้ำเขายายเที่ยง ยังปรากฏ ‘งูจงอาง’ ขนาดใหญ่แผ่แม่เบี้ยอยู่กลางถนน และชูคอแผ่แม่เบี้ยอยู่เช่นนั้น จนกระทั่งขบวนรถแล่นผ่าน จึงเลื้อยกลับเข้าป่าไป ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์ได้สร้างความฮือฮาให้กับคณะผู้ร่วมเดินทางในครั้งนี้เป็นอย่างมาก สำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองฯ เป็นโรงไฟฟ้าใต้ดินพลังน้ำแบบสูบกลับ แห่งแรก และแห่งเดียวในประเทศไทย ตั้งอยู่ใกล้กับเขื่อนลำตะคอง ทำงานโดยการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองของกรมชลประทานไปเก็บไว้ที่อ่างพักน้ำบนเขายายเที่ยง ซึ่งมีความจุ 9.9 ล้านลูกบาศก์ ในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อยหรือช่วงกลางคืนถึงเช้า และเมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงในช่วงกลางวันถึงค่ำ จะปล่อยน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า และปล่อยลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองเหมือนเดิม โรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองฯ ระยะที่ 1 ก่อสร้างระหว่างปี 2537 - 2547 ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจำนวน 2 เครื่อง ขนาด 250 MW รวม 500 MW และ จ่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ (COD) เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2547 ส่วนระยะที่ 2 ก่อสร้างระหว่างปี 2559-2562 ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจำนวน 2 เครื่อง ขนาด 250 MW รวม 500 MW และ COD เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2562 ปัจจุบันผลิตไฟฟ้าได้เต็ม 1,000 MW และสามารถจ่ายไฟได้ต่อเนื่อง 8 ชั่วโมง ทั้งนี้ พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ตั้งแต่ ปี 2547-2566 รวทั้งสิ้น 6,317 ล้านหน่วย ขณะที่ 6 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-มิถุนายน) ผลิตได้ 134 ล้านหน่วย นอจากนี้ นายพีระพันธุ์ ยังได้เยี่ยมชมอ่างพักน้ำตอนบนเขายายเที่ยง และชมทุ่งกังหันลม ในโครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคองระยะที่ 2 ของกฟผ. ซึ่งนอกจากการผลิตไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแบบ Unseen ของจังหวัดนครราชสีมาอีกด้วย โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับว่า “โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา” มีความหมายว่า โรงไฟฟ้าลำตะคองเป็นที่พัฒนาแสงไฟด้วยน้ำ ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปเปิดโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2556 นับเป็นโรงไฟฟ้าแห่งสุดท้ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามอันเป็นสิริมงคล
ผู้ขับขี่รถบรรทุกหรือรถโดยสารทุกท่าน โปรดอ่านทางนี้! วันนี้ พพ. มีวิธีขับรถบรรทุกที่ถูกต้องมาฝาก ซึ่งจะช่วยประหยัดเชื้อเพลิงได้อย่างมากนะครับ ลองทำตามนี้ได้เลย
‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ลงพื้นที่จังหวัด สุราษฎร์ธานี รับฟังปัญหาและหาแนวทางแก้ไขราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ พร้อมเร่งแนวทางผลิตน้ำมันระบบไพโรไลซิสจากขยะพลาสติกและเศษถ้วยยางพาราเพื่อช่วยลดมลภาวะและช่วยเกษตรกร รวมทั้งเร่งการสนับสนุนไฟฟ้าระบบโซลาร์เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้เกษตรกรและประชาชนอย่างยั่งยืน เมื่อวานนี้ (29 มิ.ย.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะ ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อรับฟังปัญหาและหาแนวทางแก้ไขราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำจากชาวสวนปาล์มและโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ หรือ CPO ณ บริษัท ปาล์มทองคำ จำกัด อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีครั้งนี้ เพื่อพบพูดคุยปัญหากับชาวสวนปาล์มที่ประสบปัญหาราคาปาล์มตกต่ำโดยตรง พบว่าปัจจุบันปัญหาลดน้อยลงแล้วและลานเทก็รับซื้อทะลายปาล์มจากชาวสวนยางในราคาสูงขึ้น แต่ปัญหาคืออยากให้กรมการค้าภายในประกาศราคารับซื้อทะลายปาล์มในราคาสูงขึ้น เพราะราคาปุ๋ยกับค่าใช้จ่ายอื่นไม่ลดลง ส่วนปัญหาของโรงหีบหรือโรงสกัดคืออยากให้วางระบบการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบของโรงงานไบโอดีเซลให้มีความเป็นธรรมกับลานเทและโรงสกัดมากขึ้น เพราะปัจจุบันมีกฎหมายกำกับดูแลลานเทและโรงสกัดแต่กลับไม่มีกฎหมายกำกับดูแลโรงงานไบโอดีเซลในการซื้อน้ำมันปาล์มดิบ CPO และการขายน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ รวมทั้งน้ำมัน B100 ที่นำมาผสมน้ำมันดีเซล ซึ่งนายพีระพันธุ์รับว่าจะนำไปพิจารณา ทั้งนี้ปัจจุบันนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงพลังงาน ทำงานร่วมกันเพื่อเร่งหามาตรการแก้ไขและช่วยเหลือพี่น้องชาวสวนปาล์มอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงพลังงาน แม้ว่าจะไม่ใช่กระทรวงหลักที่ดูแลปัญหาดังกล่าว ทว่า ก่อนหน้านี้ทางกระทรวงเกษตรฯ ได้ขอให้กระทรวงพลังงานช่วยดำเนินการให้ผู้ค้าน้ำมัน เช่น ปตท. และ บางจาก รับซื้อน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ B100 จากโรงงานผลิตไบโอดีเซลที่นำมาใช้ผสมน้ำมันดีเซล ในราคาประมาณ 33-35 ต่อกิโลกรัม ตามที่สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ประกาศไว้ เนื่องจากมองว่าจะทำให้การรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบหรือ CPO จากโรงหีบหรือโรงสกัดในราคาสูงขึ้นได้ จากนั้นโรงหีบหรือโรงสกัดก็จะไปซื้อผลปาล์มจากลานเทในราคาสูงขึ้น และจะทำให้ลานเทสามารถขยับราคารับซื้อผลปาล์มจากชาวสวนปาล์มสูงขึ้นด้วยตามลำดับ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะบังคับผู้ค้าน้ำมันให้รับซื้อน้ำมัน B100 ในราคาใดราคาหนึ่ง ต่างจากกระทรวงพาณิชย์ นอกจากนั้นโรงงานผลิตไบโอดีเซลเป็นขั้นตอนที่อยู่ห่างจากการซื้อผลปาล์มจากเกษตรกรที่ลานเทมาก จึงขอความร่วมมือให้ผู้ค้าน้ำมันที่จะซื้อน้ำมัน B100 จากโรงงานไบโอดีเซลต้องทำความตกลงกับโรงสกัดและลานเทว่าจะรับซื้อทะลายปาล์มจากชาวสวนปาล์มในราคาสูงขึ้นด้วยเสียก่อน ขณะเดียวกัน จะผลักดันการนำน้ำมันปาล์มดิบ CPO ขยะพลาสติก และเศษถ้วยยางไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตน้ำมันระบบไพโรไลซิสในชุมชนเพื่อช่วยลดมลภาวะและช่วยลดภาระด้านน้ำมันเชื้อเพลิงให้เกษตรกร “ก่อนหน้านี้ เคยให้ความเห็นไว้ว่า หากต้องการจะช่วยเหลือชาวสวนปาล์มจริง ๆ แล้ว ควรให้กระทรวงพาณิชย์กำกับให้ลานเทรับซื้อผลปาล์มในราคาที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศตามกฎหมายมากกว่า เพราะปัญหาในปัจจุบันคือ ลานเทส่วนมากไม่รับซื้อผลปาล์มในราคาที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศ ในขณะที่โรงหีบหรือโรงสกัดส่วนใหญ่กลับเป็นผู้รับซื้อผลปาล์มจากลานเทตามราคาที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศ ปัญหาอีกอย่างคือเรายังไม่มีการขึ้นทะเบียนลานเทว่า มีจำนวนเท่าใด ขนาดใด ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อมาดูกระบวนการรับซื้อปาล์มของลานเทในจังหวัดสุราษฎร์ธานี หนึ่งในจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุดของประเทศ จากนั้นจะนำไปสู่การบูรณาการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวสวนปาล์มอย่างยั่งยืนต่อไป” นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ ยังได้รับฟังเสียงจากชาวสุราษฎร์ธานี ที่ต้องการให้ช่วยส่งเสริมไฟฟ้าจากแสงแดดหรือระบบโซลาร์เซลล์ ซึ่งนายพีระพันธุ์แจ้งให้ทราบว่าปัจจุบันกระทรวงพลังงานกำลังเตรียมการที่จะสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรและชาวบ้านในการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในเรื่องนโยบายและงบประมาณ แต่ในระยะยาวต้องทำกฎหมายการส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นการเฉพาะเพื่อลดขั้นตอนการขออนุญาตและกำหนดมาตรการสนับสนุนอย่างยั่งยืนด้วย ปัจจุบันกระทรวงพลังงานได้เจรจากับกระทรวงการคลังที่จะให้ประชาชนสามารถนำค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบหลังคาโซลาร์รูฟ มาหักภาษีเงินได้ คาดว่าจะสามารถนำเข้าที่ประชุม ครม. ได้ในเร็วๆ นี้