รู้หรือไม่ ? กว่าจะได้ปิโตรเลียมให้เราใช้ จะต้องผ่านขั้นตอนการดำเนินงาน ดังต่อไปนี้

1. ช่วงการสำรวจ : กำหนดให้มีระยะเวลาการสำรวจไม่เกิน 6 ปี และขอต่อระยะเวลาสำรวจได้อีก 1 ครั้ง ไม่เกิน 3 ปี ตามกฎหมาย
เริ่มตั้งแต่การศึกษาข้อมูลทั่วไปของพื้นที่ เช่น การศึกษาข้อมูลการสำรวจที่เคยมีมาก่อน ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม หรือการออกภาคสนาม เพื่อกำหนดพื้นที่ในการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์เบื้องต้น ซึ่งจะช่วยให้สามารถกำหนดขอบเขตของแอ่งสะสมตะกอนได้
หลังจากนั้นจึงกำหนดขอบเขตให้แคบลง เพื่อทำการสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนในการหาพื้นที่เป้าหมายที่คาดว่ามีปิโตรเลียมสะสมตัวอยู่
เมื่อได้พื้นที่เป้าหมายแล้วจึงทำการเจาะสำรวจปิโตรเลียม ซึ่งเป็นเพียงวิธีเดียวที่จะทำให้ทราบได้ว่าพื้นที่เป้าหมายนั้นมีปิโตรเลียมสะสมตัวอยู่หรือไม่
หากการเจาะสำรวจปิโตรเลียมประสบผลสำเร็จ พบปิโตรเลียมสะสมตัวอยู่ ก็จะทำการเจาะหลุมประเมินผล เพื่อให้ทราบขอบเขตของแหล่งปิโตรเลียมนั้น ๆ และประเมินปริมาณทรัพยากรปิโตรเลียม โดยจะเข้าสู่ช่วงการพัฒนาเป็นแหล่งผลิตปิโตรเลียมต่อไป
ทั้งนี้ หากในขั้นตอนการเจาะสำรวจ ไม่พบปิโตรเลียม ก็จะต้องกลับไปทบทวนข้อมูลเพื่อหาพื้นที่เป้าหมายใหม่หรือคืนพื้นที่แก่รัฐ
2. ช่วงการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม : กำหนดให้ผู้รับสัมปทานมีระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม 20 ปี และขอต่อระยะเวลาผลิตได้อีก 1 ครั้งไม่เกิน 10 ปี ตามกฎหมาย
โดยหลังจากทำการสำรวจจนพบแหล่งปิโตรเลียมแล้ว ก็จะเข้าสู่ช่วงการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม เพื่อทำการผลิตปิโตรเลียมซึ่งผู้รับสัมปทานต้องเริ่มทำการผลิตปิโตรเลียมตามแผนภายใน 4 ปี นับแต่วันที่ได้รับอนุมัติพื้นที่ผลิต
หากผู้รับสัมปทานไม่เริ่มทำการผลิตปิโตรเลียมภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมสำหรับพื้นที่ที่ได้กำหนดให้เป็นพื้นที่ผลิตนั้นสิ้นสุดลง
ซึ่งเริ่มตั้งแต่การเข้าพื้นที่เพื่อก่อสร้างฐานผลิต/แท่นผลิต ติดตั้งอุปกรณ์การผลิต และเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติม เพื่อผลิตปิโตรเลียม ขึ้นมาจากหลุมให้ได้
ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานประสงค์จะขอขยายระยะเวลาเริ่มทำการผลิตปิโตรเลียมออกไปจากกำหนดเวลา 4 ปี ดังกล่าว สามารถทำได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี
สำหรับการผลิตปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ประโยชน์ จะผ่านกระบวนการแยกน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ น้ำ และสิ่งเจือปนอื่น ๆ ออก จนได้ปิโตรเลียมที่มีคุณภาพตามที่โรงกลั่นต้องการ
**หมายเหตุ : ระยะเวลาการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเป็นไปตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และฉบับแก้ไข พ.ศ.2532
วันที่ 17 มีนาคม 2566 สำนักงานพลังงานจังหวัดระนอง จัดประชุมชี้แจงแนวทางการรายงานข้อมูลการใช้พลังงาน และสร้างความเข้าใจในการกำหนดมาตรการ การลดใช้พลังงาน ภายใต้ ”โครงการลดการใช้พลังงานในภาครัฐ ปีงบประมาณ 2565-2566” โดยมีนายราชัน มีน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงแนวทางการรายงานข้อมูลการใช้พลังงาน และสร้างความเข้าใจในการกำหนดมาตรการ การลดใช้พลังงาน ภายใต้ ”โครงการลดการใช้พลังงานในภาครัฐ ปีงบประมาณ 2565-2566” การประชุมชี้แจงโครงการฯ ในครั้งนี้ เป็นการทบทวนและให้ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการฯ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้านพลังงานของหน่วยงานมีความเข้าใจและสามารถรายงานผลการใช้พลังงานของหน่วยงานในระบบได้อย่างถูกต้องต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ การบรรยายและกิจกรรมประกอบด้วย - การบรรยายหัวข้อ แนวทางการประเมินและตัวชี้วัดการลดใช้พลังงานในภาครัฐ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 - การบรรยายหัวข้อ วิธีการรายงานและประมวลผลผ่านเว็บไซต์ e-report.energy.go.th - การบรรยายหัวข้อ คำแนะนำในการปฏิบัติการลดใช้พลังงานในภาครัฐ - การเล่นเกมส์ตอบคำถามและมอบรางวัลให้แก่เจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ตามมติคณะรัฐมนตรีมีนโยบายเห็นชอบมาตรการประหยัดพลังงานตามที่เสนอในแนวทางประหยัดพลังงานในหน่วยงาน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับหน่วยงานราชการ โดยกำหนดให้ทุกส่วนราชการลดการใช้ไฟฟ้าและนํ้ามันอย่างน้อยร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานการใช้ไฟฟ้าและนํ้ามันของแต่ละส่วนราชการ
สำนักงานพลังงานจังหวัดระนอง ขยายเวลาทำการ วันที่ 3 - 5 เมษายน 2566 ตั้งแต่เวลา 16.30 น. - 18.00 น. ด้วยในวันที่ 1 เมษายน ของทุกปี เป็นวันข้าราชการพลเรือน สำนักงานร่วมกิจกรรมสัปดาห์การให้บริการประชาชนเป็นกรณีพิเศษ ตั้งแต่เวลา 16.30 น. ถึง 18.00 น ในส่วนของการยื่นเรื่อง การจดแจ้ง การขออนุมัติ การอนุญาต การประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง สอบถามเพิ่มเติม ได้ที่ สำนักงานพลังงานจังหวัดระนอง โทร 0 7780 0053 ????????????????????
‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ลงพื้นที่จังหวัด สุราษฎร์ธานี รับฟังปัญหาและหาแนวทางแก้ไขราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ พร้อมเร่งแนวทางผลิตน้ำมันระบบไพโรไลซิสจากขยะพลาสติกและเศษถ้วยยางพาราเพื่อช่วยลดมลภาวะและช่วยเกษตรกร รวมทั้งเร่งการสนับสนุนไฟฟ้าระบบโซลาร์เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้เกษตรกรและประชาชนอย่างยั่งยืน เมื่อวานนี้ (29 มิ.ย.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะ ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อรับฟังปัญหาและหาแนวทางแก้ไขราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำจากชาวสวนปาล์มและโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ หรือ CPO ณ บริษัท ปาล์มทองคำ จำกัด อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีครั้งนี้ เพื่อพบพูดคุยปัญหากับชาวสวนปาล์มที่ประสบปัญหาราคาปาล์มตกต่ำโดยตรง พบว่าปัจจุบันปัญหาลดน้อยลงแล้วและลานเทก็รับซื้อทะลายปาล์มจากชาวสวนยางในราคาสูงขึ้น แต่ปัญหาคืออยากให้กรมการค้าภายในประกาศราคารับซื้อทะลายปาล์มในราคาสูงขึ้น เพราะราคาปุ๋ยกับค่าใช้จ่ายอื่นไม่ลดลง ส่วนปัญหาของโรงหีบหรือโรงสกัดคืออยากให้วางระบบการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบของโรงงานไบโอดีเซลให้มีความเป็นธรรมกับลานเทและโรงสกัดมากขึ้น เพราะปัจจุบันมีกฎหมายกำกับดูแลลานเทและโรงสกัดแต่กลับไม่มีกฎหมายกำกับดูแลโรงงานไบโอดีเซลในการซื้อน้ำมันปาล์มดิบ CPO และการขายน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ รวมทั้งน้ำมัน B100 ที่นำมาผสมน้ำมันดีเซล ซึ่งนายพีระพันธุ์รับว่าจะนำไปพิจารณา ทั้งนี้ปัจจุบันนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงพลังงาน ทำงานร่วมกันเพื่อเร่งหามาตรการแก้ไขและช่วยเหลือพี่น้องชาวสวนปาล์มอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงพลังงาน แม้ว่าจะไม่ใช่กระทรวงหลักที่ดูแลปัญหาดังกล่าว ทว่า ก่อนหน้านี้ทางกระทรวงเกษตรฯ ได้ขอให้กระทรวงพลังงานช่วยดำเนินการให้ผู้ค้าน้ำมัน เช่น ปตท. และ บางจาก รับซื้อน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ B100 จากโรงงานผลิตไบโอดีเซลที่นำมาใช้ผสมน้ำมันดีเซล ในราคาประมาณ 33-35 ต่อกิโลกรัม ตามที่สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ประกาศไว้ เนื่องจากมองว่าจะทำให้การรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบหรือ CPO จากโรงหีบหรือโรงสกัดในราคาสูงขึ้นได้ จากนั้นโรงหีบหรือโรงสกัดก็จะไปซื้อผลปาล์มจากลานเทในราคาสูงขึ้น และจะทำให้ลานเทสามารถขยับราคารับซื้อผลปาล์มจากชาวสวนปาล์มสูงขึ้นด้วยตามลำดับ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะบังคับผู้ค้าน้ำมันให้รับซื้อน้ำมัน B100 ในราคาใดราคาหนึ่ง ต่างจากกระทรวงพาณิชย์ นอกจากนั้นโรงงานผลิตไบโอดีเซลเป็นขั้นตอนที่อยู่ห่างจากการซื้อผลปาล์มจากเกษตรกรที่ลานเทมาก จึงขอความร่วมมือให้ผู้ค้าน้ำมันที่จะซื้อน้ำมัน B100 จากโรงงานไบโอดีเซลต้องทำความตกลงกับโรงสกัดและลานเทว่าจะรับซื้อทะลายปาล์มจากชาวสวนปาล์มในราคาสูงขึ้นด้วยเสียก่อน ขณะเดียวกัน จะผลักดันการนำน้ำมันปาล์มดิบ CPO ขยะพลาสติก และเศษถ้วยยางไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตน้ำมันระบบไพโรไลซิสในชุมชนเพื่อช่วยลดมลภาวะและช่วยลดภาระด้านน้ำมันเชื้อเพลิงให้เกษตรกร “ก่อนหน้านี้ เคยให้ความเห็นไว้ว่า หากต้องการจะช่วยเหลือชาวสวนปาล์มจริง ๆ แล้ว ควรให้กระทรวงพาณิชย์กำกับให้ลานเทรับซื้อผลปาล์มในราคาที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศตามกฎหมายมากกว่า เพราะปัญหาในปัจจุบันคือ ลานเทส่วนมากไม่รับซื้อผลปาล์มในราคาที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศ ในขณะที่โรงหีบหรือโรงสกัดส่วนใหญ่กลับเป็นผู้รับซื้อผลปาล์มจากลานเทตามราคาที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศ ปัญหาอีกอย่างคือเรายังไม่มีการขึ้นทะเบียนลานเทว่า มีจำนวนเท่าใด ขนาดใด ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อมาดูกระบวนการรับซื้อปาล์มของลานเทในจังหวัดสุราษฎร์ธานี หนึ่งในจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุดของประเทศ จากนั้นจะนำไปสู่การบูรณาการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวสวนปาล์มอย่างยั่งยืนต่อไป” นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ ยังได้รับฟังเสียงจากชาวสุราษฎร์ธานี ที่ต้องการให้ช่วยส่งเสริมไฟฟ้าจากแสงแดดหรือระบบโซลาร์เซลล์ ซึ่งนายพีระพันธุ์แจ้งให้ทราบว่าปัจจุบันกระทรวงพลังงานกำลังเตรียมการที่จะสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรและชาวบ้านในการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในเรื่องนโยบายและงบประมาณ แต่ในระยะยาวต้องทำกฎหมายการส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นการเฉพาะเพื่อลดขั้นตอนการขออนุญาตและกำหนดมาตรการสนับสนุนอย่างยั่งยืนด้วย ปัจจุบันกระทรวงพลังงานได้เจรจากับกระทรวงการคลังที่จะให้ประชาชนสามารถนำค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบหลังคาโซลาร์รูฟ มาหักภาษีเงินได้ คาดว่าจะสามารถนำเข้าที่ประชุม ครม. ได้ในเร็วๆ นี้